วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

ไตรโคโดม่า เชื้อรามหัศจรรย์


เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.) เป็นเชื้อราชั้นสูงที่เจริญได้ดีในดิน เศษซากพืช ซากของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และวัสดุอินทรีย์ตามธรรมชาติ จัดเป็นเชื้อราปฏิปักษ์ที่สามารถใช้ควบคุมโรคพืช ซึ่งเกิดจากเชื้อราสาเหตุโรคพืชในดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โรคโคนเน่า โรคเน่าระดับดิน (เน่าคอดิน)ของกล้าพืช และโรคเหี่ยว ในปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรได้รู้จักและใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรคพืชอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะยิ่งในภาครัฐ สถาบันส่งเสริมเกษตรชีวภาพ และโรงเรียนเกษตรกร ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ทำหน้าที่ผลิตเชื้อสดโดยการเลี้ยงเชื้อราไตรโคเดอร์มาบนเมล็ดข้างฟ่างที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว เพื่อเผยแพร่สู่เกษตรกร อย่างไรก็ตามการผลิตเชื้อสดดังกล่าว นอกจากจะประสบปัญหาการผลิตที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรแล้ว ยังพบปัญหาที่เกี่ยวกับการปนเปื้อนของจุลินทรีย์อื่นๆ การเก็บรักษาเชื้อสดไม่ได้นาน และการเสื่อมหรือกลายพันธุ์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มา ส่งผลให้คุณภาพ และประสิทธิภาพของเชื้อด้อยลง สำหรับภาคเอกชนได้มีบริษัทเอกชนผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาในรูปชีวภัณฑ์ชนิดผงแห้งออกจำหน่ายแล้ว ซึ่งเพิ่มความสะดวกในการใช้และการเก้บรักษา แต่ก็ยังคงพบปัญหาความไม่สะดวกในการจัดซื้อ และชีวภัณฑ์มีราคาค่อนข้างสูง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ทางโครงการพัฒนาวิชาการ " การพัฒนาการผลิตและการประยุกต์ใช้ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มา " ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บริษัท ยูนิซีดส์ จำกัด ได้พัฒนาเทคนิคการขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด โดยใช้หัวเชื้อบริสุทธิ์ชนิดผงแห้งขึ้นจนประสบความสำเร็จ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างมากต่อไป เพราะเทคนิคที่พัฒนานี้จะช่วยให้เกษตรหรือประชาชนทั่วไปสามารถผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาไว้ใช้ควบคนุมเชื้อราสาเหตุโรคพืชได้ด้วยตนเอง ด้วยวิธีการง่ายๆ ประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยลดต้นทุนในการผลิตพืช ลดการใช้สารเคมีช่วยให้เกิดความปลอดภัยจากผู้ผลิต ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อม สามารถตอบสนองต่อกระบวนการผลิตพืชแบบเกาตรอินทรีย์ต่อไป 
ขั้นตอนและวิธีการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด 

ในการผลิตเชื้อรานั้น วัสดุอาหารและหัวเชื้อเป็นปัจจัยที่สำคัญ ผลการวิจัยพบว่าปลายข้าวเป็นวัสดุอาหารที่ดีที่สุด หาซื้อง่ายและราคาถูก ส่วนหัวเชื้อไตรโคเดอร์มา ทางโครงการได้พัฒนาให้อยู่ในรูปผงแห้ง ซึ่งสะดวกในการใช้และเก็บรักษา 

หัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาบริสุทธิ์ : คือเชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ CB-Pin-01 ที่ดีที่สุดจากการคัดเลือกเก็บในวัสดุอินทรีย์ที่ปราศจากจุลินทรีย์ปนเปื้อนทุกชนิด สามารถเก็บรักษาได้เป็นระยะเวลานานและสะดวกต่อการนำไปใช้เพื่อขยายหรือเพิ่มปริมาณเชื้อ 

วิธีเก็บรักษาหัวเชื้อ : เก็บไว้ในตู้เย็น ( ประมาณ 8-10 องศาเซลเซียส ) สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 1 ปี ถ้าเก็บที่อุณหภูมิในห้องปกติ สามารถเก็บไว้ได้นาน 6 เดือน 

วัตถุประสงค์ เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจสามารถขยายปริมาณเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดไว้ใช้ได้เองตามต้องการ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและสะดวกต่อการนำไปใช้ 
วิธีการขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด 

1. ใช้ปลายข้าวหรือข้าวสาร 3 แก้ว (1แก้วมีความจุประมาณ 250 ซีซี ) ประมาร 600 กรัม ใส่น้ำเปล่าสะอาด 2 แก้วหรือ ประมาณ0.5ลิตรหุงด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเมื่อสุกแล้วจะได้ข้าวสุก (ประมาณ 1 กิโลกรัม) 
2. ตักข้ามที่หุงสุกใหม่ๆใส่ถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 8*12นิ้ว ถุงละ 2แก้วน้ำ (ประมาร 250-300 กรัม ) รีดอากาศออกจากถุงแล้ว พับปากถุงไว้ รอให้ข้าวอุ่นหรือเก็บเย็น จึงเทหัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาใส่ลงในถุงพลาสติก (หัวเชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 ขวด บรรจุ 20 กรัม ใส่ในข้าวสุกได้จำนวน 16 ถุง รวมทั้งหมด 4 กิโลกรัม ) 
3. หลังใส่หัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาแล้ว มัดปากถุงด้วยหนังยางให้แน่น (มัดให้สุดปลายถุง) เขย่าหรือขยำเบาๆให้หัวเชื้อคลุกเค้ากับข้าวสุกทั่วทั้งถุง ใช้ปลายเข็มเจาะถุงพลาสติกใต้หนังยางที่มัดเล็กน้อย ประมาณ 15-20 จุดต่อถุง (เพื่อให้มีอากาศถ่ายเท เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อราไตรโคเดอร์มา) แล้วแผ่ข้าวสุกให้แบนราบ
4. บ่มเชื้อไว้ในที่มีอากาศถ่ายเท มีแสงสว่างส่องถึง ไม่ตากแดด ปลอดภัยจากมด ไร และสัตว์อื่นๆ เมื่อครบ 2 วันขยำถุงเบาๆ เพื่อให้เส้นใยของเชื้อกระจายทั่วทั้งถุง บ่มถุงเชื้อต่ออีก 4-5 วันก่อนนำไปใช้ เมื่อบ่มเชื้อครบ 7 วันแล้ว ถ้ายังไม่ใช้ต้องเก็บถุงเชื้อไว้ในตู้เย็น แต่ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 15 วัน 

คำแนะนำ : ในการบ่มเชื้อ ถ้าวางถุงเชื้อในที่มีแสงสว่างน้อย ควรเพิ่มแสงด้วยการติดตั้งหลอดฟลูออเรสเซนต์(หลอดนีออน) ช่วยโดยให้แสงสว่างนาน 12 ชั่งโมง/วัน หรือตลอด24ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นการสร้างสปอร์ของเชื้อ เชื้อที่ขึ้นดีจะมีสีเขียวเข้ม 

คำเตือน : ต้องขยายเชื้อโดยใช้หัวเชื้อบริสุทธิ์เท่านั้น ไม่ควรต่อเชื้อจากเชื้อที่ขยายแล้ว เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่น และเชื้อที่ขยายต่อจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคพืชลดลง 
วิธีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด 


การใช้ราไตรโคเดอร์มาชนิดสดผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ 
ใช้เชื้อสดผสมกับรำข้าวละเอียดและปุ๋ยอินทรีย์(ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอกเก่า)ในอัตราส่วน1:4:100โดยน้ำหนักโดย 
- เติมรำข้าวเล็กน้อยลงไปในถุงเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด คลุกเคล้าและบีบให้เชื้อที่เกาะเป็นก้อนแตกออก ต่อจากนั้นจึงเทเชื้อที่คลุกรำข้าวแล้วผสมกับรำข้าวที่เหลือให้ครบตามจำนวน แล้วคลุกให้เข้ากันอีกครั้ง 
- นำหัวเชื้อสดที่ผสมกับรำข้าว(อัตราส่วน 1:4โดยน้ำหนัก) ผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก100กิโลกรัม คลุกเคล้าจนเข้ากันอย่างทั่วถึง อาจพรมน้ำพอชื้นเพื่อลดการฟุ้งกระจาย 
เมื่อได้ส่วนผสมของเชื้อสดกับปุ๋ยอินทรีย์แล้วสามารถนำไปใช้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ 

1. การผสมกับวัสดุปลูกสำหรับการเพาะกล้าในกระบะเพาะเมล็ดหรือถุงเพาะชำ 
ใส่ส่วนผสมของเชื้อสด ผสมดินปลูกอัตรา 1:4 โดยปริมาตร(20%)นำดินปลูกที่ผสมด้วยส่วนผสมของเชื้อสดแล้วใส่กระบะเพาะเมล็ด ถุง หรือกระถางปลูก 

2. การใส่หลุมปลูกพืช 
- ใช้ส่วนผสมของเชื้อสด อัตรา 10-20กรัม(1-2ช้อนแกง) ต่อหลุม โรยในหลุมก่อนการหยอดเมล็ดพืช 
- ใช้ส่วนผสมของเชื้อสดอัตรา10-20กรัมคลุกเคล้ากับดินในหลุมปลูกพืช ถ้าหลุมใหญ่อาจใช้50-100กรัม/หลุม 

3. การใช้เชื้อหว่านในแปลงปลูก 
หว่านส่วนผสมเชื้อสดลงบนแปลงปลูกก่อนการปลูกพืช ด้วยอัตรา 50-100กรัมต่อตารางเมตร หว่านส่วนผสมเชื้อสดลงบนแปลงปลูก ขณะที่พืชกำลังเจริญเติบโต และกำลังมีโรคระบาด ด้วยอัตรา 50-100ต่อตารางเมตร 

4. การใช้เชื้อหว่านใต้ทรงพุ่มหรือโรยโคนต้นพืช 
หว่านส่วนผสมเชื้อสดทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่มจนถึงรอบชายพุ่มอัตรา50-100กรัมต่อตารางเมตร หรือโรยส่วนผสมเชื้อสด บริเวณโคนต้นพืชกรณีที่เกิดโรคโคนเน่า ด้วยอัตรา10-20กรัมต่อต้น 

การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดคลุกเมล็ดพืช 
ใส่เชื้อสดลงในถุงพลาสติกที่จะใช้คลุกเมล็ดอัตรา 10 กรัม (1ช้อนแกง) ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม เติมน้ำ 10 ซีซี บีบเชื้อสดให้แตกตัวเทเมล็ด 1 กิโลกรัมลงในถุงแล้วเขย่าให้เชื้อสดคลุกเคล้าจนติดผิวเมล็ด นำเมล็ดออกผึ่งลมให้แห้งหรือใช้ปลูกได้ทันที 

การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดผสมกับน้ำ 
ในกรณีที่ไม่สะดวกในการจัดหาปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และรำข้าวหรือกรณีที่ต้องการใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มาลงดินโดยไม่ประสงค์จะใส่ปุ๋ยอินทรีย์และรำข้าวลงไปในดินด้วย เนื่องจากไม่อยู่ในช่วงที่เหมาะสมสำหรับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดที่เตรียมไว้ผสมกับน้ำ ในอัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรหรือ 250 กรัม(เชื้อสด 1 ถุง)ต่อน้ำ 50ลิตรใช้น้ำเชื้อที่เตรียมได้ฉีดพ่นลงดินด้วยอัตรา 10-20 ลิตรต่อ100 ตารางเมตรสำหรับขั้นตอนการใช้เชื้อสดผสมน้ำมีดังนี้ 
1. นำเชื้อสดมา 1 ถุง(250กรัม) เติมน้ำลงไปในถุง 300มิลลิลิตร(ซีซี)หรือพอท่วมตัวเชื้อแล้วขยำเนื้อข้าวให้แตกออกจนได้น้ำเชื้อสีเขียวเข้ม 
2. กรองน้ำเชื้อด้วยผ้าหรือกระชอนตาถี่ ล้างกากที่เหลือบนกระชอนด้วยน้ำอีกจำนวนหนึ่งจนเชื้อหลุดจากเมล็ดข้าวหมด เติมน้ำให้ครบ 50 ลิตร ก่อนนำไปใช้ 

1. การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในกระบะเพาะกล้า กระถาง หรือถุงปลูกพืช 
1.1 ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนกระบะเพาะหลังจาดหยอดเมล็ดแล้วหรือในระหว่างที่ต้นกล้ากำลังเจริญเติบโตโดยฉีดให้ดินเปียกฉุ่ม 
1.2 ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในถุงหรือกระถางปลูกพืช ตั้งแต่เริ่มปลูกหรือในระหว่างที่พืชกำลังเจริญเติบโตโดยฉีดให้ดินเปียกชุ่ม 

2. การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในหลุมปลูกพืช 
2.1 ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในหลุมปลูกพืชหลังจากเพาะเมล็ดแล้ว โดยฉีดพ่นให้ดินเปียกชื้น 
2.2 ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในหลุมปลูกพืชหลังย้ายพืชลงปลูกแล้ว โดยฉีดให้ดินเปียกชื้น 

3. การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลงปลูกพืช 
3.1 ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลงพืชหลังจากหว่านเมล็ด และคลุมแปลงด้วยฟางแล้วในอัตรา 10-20 ลิตร/100 ตารางเมตร และให้น้ำแก่พืชทันที 
3.2 ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลงปลูก อัตรา 10-20 ลิตร/100ตารางเมตร ก่อนคลุมแปลงด้วยพลาสติกดำ 
3.3 กรณีที่พืชกำลังเจริญเติบโตอยู่ให้ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลง ในอัตรา 10-20 ลิตร/100 ตารางเมตร 

4. การฉีดพ่นน้ำเชื้อสดโคนต้นพืชและใต้ทรงพุ่ม 
4.1 ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงตรงโคนต้นพืช และบนดินบริเวณรอบโคนต้นพืช โดยให้ผิวดินเปียกชื้น 
4.2 ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนดิน ใต้บริเวณใต้ทรงพุ่มและขอบชายพุ่ม ให้ดินพอเปียกชื้น 

คำเตือน : - ควรฉีดพ่นในเวลาแดดอ่อน หรือเวลาเย็นกรณีที่บริเวณที่ฉีดพ่นไม่มีร่มเงาจากพืชเลย 
- ถ้าดินบริเวณที่จะฉีดพ่นเชื้อแห้งมาก ควรให้น้ำพอให้ดินมีความชื้นเสียก่อน หรือให้น้ำทันทีหลังฉีดพ่น เพื่อให้น้ำพอเชื้อซึมลงดิน 
ขณะนี้ทางโครงการ ได้ถ่ายทอดเทคนิคการผลิตหัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาบริสุทธิ์ชนิดผงแห้งให้กับบริษัทยูนิซีดส์ จำกัด เพื่อดำเนินการผลิตจำหน่ายแล้ว ทางโครงการได้รับความอนุเคราะห์จากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการดำเนินการยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตรเรื่อง"กรรมวิธีผลิตขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด โดยใช้หัวเชื้อบริสุทธิ์ชนิดแห้ง" จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดย บริษัท ยูนิซีดย์ จำกัด เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ นอกจากนี้ทางผู้วิจัยได้จักพิมพ์เอกสารวิชาการเรื่อง"การผลิตและการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด" เรียบร้อยแล้วโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการเกษตรกู้ชาติ(ปี 2544) ผู้สนใจเอกสารดังกล่าวสามารถติดต่อขอรับได้ที่ ผศ.ดร.จิระเดช แจ่มสว่าง ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร วิยาเขตกำแพงแสน

  
ใส่หัวเชื้อไตรโคเดอร์มาในปลายข้าวที่หุงสุกแล้ว หลังบ่มเชื้อนาน 6-7 วัน จะเห็นเชื้อสีเขียวปกคลุมเมล็ดข้าว
นำไปใช้ทันทีหรือแช่ในตู้เย็นธรรมดา 
   
ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดในกระถางปลูกพืชหรือโคนต้นพืชที่กำลังเจริญเติบโต หว่านส่วนผสมเชื้อสดลงบนแปลงปลูกพืชขณะที่พืชกำลังเจริญเติบโต 


ขอบคุณข้อมูลทั้งหมดจาก คุณaaban 
http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=3123.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น